ส่วนประกอบของโปงลาง


                          ส่วนประกอบของโปงลาง


โปงลาง มีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้


ลูกโปงลาง

ลูกโปงลาง มีลักษณะเป็นแท่งกลม บากให้เว้าตรงกลางทั้งสองด้าน แล้วด้านหัวท้ายของลูกโปงลางแต่ละลูก เจาะรูทะลุ สำหรับร้อยเชือก โดยลูกที่โตและยาวที่สุด จะให้เสียงโทนต่ำที่สุด ลูกที่เล็กและสั้นที่สุด จะให้เสียงสูงที่สุด

ลูกโปงลาง ทำจากไม้เนื้อแข็ง และให้เสียงกังวานดี ซึ่งไม้ที่ให้เสียงกังวานได้ เช่น ไม้พะยูง ไม้มะหาด ไม้มะเหลื่อม ไม้ขนุน และไม้ไผ่ (ปัจจุบัน ใช้โลหะทำเป็นลูกโปงลาง ก็มี)

ไม้พะยูง ให้เสียงกังวานใสดีมาก เนื้อแข็งกว่าไม้มะหาด เมื่อใช้งานไปนานๆ สีจะออกน้ำตาลดำ ลูกโปงลางที่ทำจากไม้พะยูง ถือว่าคุณภาพดีมาก แต่เนื่องจาก ปัจจุบัน ไม้พะยูง เป็นไม้สงวน จึงหาโปงลางไม้พะยูงไม่ได้แล้ว (นอกจาก ที่ทำก่อนหน้านี้)

ไม้มะหาด มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ มะหาดทอง มะหาดน้ำผึ้ง และมะหาดขี้ควาย

มะหาดทอง ให้เสียงกังวานนุ่มใสดี เมื่อตกแต่งเสร็จใหม่ๆ สีเหลืองทอง พอใช้งานไปนานๆ สีจะออกดำคล้ำ เกิดอยู่ตามป่าลึก หรือในดง ปัจจุบัน หาค่อนข้างยากแล้ว
มะหาดน้ำผึ้ง ให้เสียงกังวานนุ่มปานกลาง เมื่อตกแต่งเสร็จใหม่ๆ สีจะเหลืองเหมือนขมิ้น พอใช้งานไปนานๆ สีจะคล้ำลงจากเดิมหน่อยหนึ่ง แต่ยังคงเป็นสีเหลืองๆอยู่
มะหาดขี้ควาย หรือมะหาดทุ่ง ให้เสียงกังวานน้อย เกิดอยู่ตามท้องทุ่งนาทั่วไป สีดำคล้ำ ให้คุณภาพเสียงต่ำที่สุดในบรรดาไม้มะหาดด้วยกัน
ไม้มะเหลื่อม  ให้เสียงกังวานดี แต่เสียงไม่ค่อยแน่น และไม้มะเหลื่อมเนื้อไม่แข็งเท่าไม้มะหาด ดังนั้นเมื่อทำโปงลาง จะสึกหรอเร็ว ใช้งานได้ไม่นาน จึงไม่เป็นที่นิยมนัก

ไม้ขนุน ให้เสียงกังวานพอประมาณ แต่เนื้อไม่แข็ง สึกหรอเร็ว จึงไม่เป็นที่นิยม

ไม้ไผ่ ให้เสียงกังวานน้อย ไม่ค่อยไพเราะ จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับนำไปบรรเลงจริง (แต่สำหรับโรงเรียนสอนโปงลาง อาจใช้โปงลางไม้ไผ่ สำหรับฝึกสอน)



ไม้ตีโปงลาง
ไม้ตีโปงลาง ใช้สองอัน หรือหนึ่งคู่ ทำจากไม้เนื้ออ่อนกว่าไม้ลูกโปงลาง เพื่อป้องกันไม่ให้ ลูกโปงลางสึกหรอเร็ว คือให้ไม้ตีสึกหรอก่อนนั่นเอง นิยมทำจากไม้ประดู่ เพราะให้สีสันสวยงาม และแข็งพอประมาณ



เชือกร้อย
ใช้สำหรับร้อยลูกโปงลางแต่ละลูกให้เป็นผืนเดียวกัน โดยระหว่างลูกแต่ละลูก ขอดเป็นปมให้แต่ละลูกไม่สัมผัสกัน แม้จะอยู่ในผืนเดียวกัน แต่เป็นอิสระต่อกัน  และด้านหัวท้าย ทำเป็นห่วงสำหรับคล้องเกี่ยวกับขาโปงลาง



ขาโปงลาง
ใช้สำหรับ แขวนลูกโปงลางทั้งผืนไว้ ให้ลูกโปงลาง ลอยอยู่อากาศ ซึ่งขาโปงลาง มีทั้งแบบสูงสำหรับยืนตี และแบบต่ำสำหรับนั่งตี



บรรณานุกรม

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(2550) “ดนตรีพื้นบ้านอีสาน...โปงลาง” (ออนไลน์) สืบค้นจาก
      http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/?transaction=ponglang02.phpสืบค้น 20 ตุลาคม 2557.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น